
ศาลาต้นโพธิ์ เป็นบริเวณชุมชนแรกเริ่มของเมืองแกลง นับแต่ย้ายเมืองจากบริเวณบ้านดอนเค็ดมาอยู่ ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2546 แทนศาลาหลังเดิม เพื่อให้เป็นสถานที่สาธารณะ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ จัดกิจกรรมสาธารณะ และเป็นท่าขึ้น - ลงเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ มีห้องสุขาสะอาดคอยอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ

พระประกายแสงทิพย์ เป็นพระพุทธรูปประจำศาลาต้นโพธิ์ ซึ่งได้สร้างไว้โดยนายเอนก เกิดมณี เมื่อปี พ.ศ. 2516 ครั้งแรกประดิษฐาน ณ ใต้ต้นโพธิ์บริเวณนั้น ต่อเมื่อก่อสร้างศาลาหลังใหม่แล้วเสร็จจึงได้ย้ายมาอยู่บนศาลาพร้อมจัดพิธีเบิกเนตรพระ ฉลองศาลาใหม่ในคราวเดียวกัน เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2546 เป็นพระพุทธรูปที่ผู้คนในเมืองแกลงแวะเวียนมากราบไว้บูชาอยู่เป็นประจำ

ศาลาแหลมท่าตะเคียน อยู่ห่างจากท่าน้ำสามย่าน (ศาลาต้นโพธิ์) ไปทางทิศใต้ ใช้เวลาเดินทางทางเรือประมาณ 15 นาที มีสภาพเป็นศาลาเก่าทรุดโทรม ชาวบ้านพลงช้างเผือกใช้เป็นสถานที่ในการทำบุญสงกรานต์ และจัดมหรสพต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ. 2547 เจ้าของที่ดินได้พร้อมใจกันอุทิศที่ดินจำนวน 1 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา บริเวณนี้แก่เทศบาลเมืองแกลง เพื่อเป็นสมบัติของราชการ และใช้เป็นที่สาธารณะ ในปี พ.ศ. 2548 เทศบาลมีโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อกันน้ำเซาะตลิ่งพังเป็นต้น

เรือนริมน้ำบ้านแหลมยาง เป็นบ้านของบรรดาประมงเรือเล็กที่อาศัยการจับสัตว์น้ำในแม่น้ำประแสเป็นเครื่องยังชีพ อยู่ห่างจากท่าน้ำสามยาน (ศาลาต้นโพธิ์) โดยใช้เวลาในการเดินทางทางเรือประมาณ 25 นาที ในอดีตเคยเป็นจุดข้ามฝาก เพื่อเดินเท้าไปปากน้ำประแส เรือต่าง ๆ ที่จะเข้าออกตลาดสามย่านจะต้องผ่านบริเวณบ้านแหลมยาง

การเลี้ยงปลาในกระชัง เมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา เทศบาลเมืองแกลงได้จัดอบรมส่งเสริมให้ชาวบ้านแหลมยางเลี้ยงปลากระชัง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และเป็นเครื่องบ่งชี้ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำประแส ปลาที่เลี้ยงเป็นปลากระพงขาว มีผู้นิยมเลี้ยงปลาในกระชังเพิ่มขึ้น และเมื่อโตขนาดพอที่จะขายได้จะนำไปขายที่ตลาดสามย่านเป็นอาชีพที่น่าศึกษาอีกอาชีพหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ริมแม่น้ำประแส นอกจากอาชีพเลี้ยงกุ้ง

การชมหิ่งห้อย ริมฝั่งแม่น้ำประแสจากท่าน้ำสามย่านไปจนถึงบริเวณบ้านแหลมท่าตะเคียน บ้านแหลมยาง ปากลัด ลัดในเกาะนก มีต้นลำพูขนาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างดารดาษ เป็นที่อาศัยของหิ่งห้อยที่แปล่งแสงระยิบระยับยามค่ำคืน เพราะน้ำมีคุณภาพดี และมีอาหารอันอุดมสมบูรณ์เป็นโปรแกรมเด่นที่สุดในการท่องแม่น้ำประแสยามค่ำ ซึ่งให้ทั้งความตื่นตา และอุราได้สุขใจ

เขตอนุรักษ์ป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำประแสและเกาะนก โดยเทศบาลตำบลเมืองแกลงเป็นบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำประแสและเกาะนก เทศบาลเมืองแกลงได้เริ่มเสริมระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการปลูกต้นโกงกางและประสัก นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมาโดยเชิญชวนผู้สนใจและกลุ่มชมรมต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมนี้ รวมปลูกแล้วกว่า 7,000 ต้น บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นอย่างนกกระยางขายาว นกเป็ดน้ำในฤดูกาลย้ายถิ่นช่วยฤดูหนาว ด้วยมีอาหาร กุ้ง หอย ปูปลาอันอุดมสมบูรณ์สำหรับมันเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการส่องกล้องดูนก

เรือรบหลวงประแส เป็นเรือรบซื้อต่อมาจากมลรัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกองทัพเรือได้นำเข้าประจำการเมื่อปี พ.ศ. 2498 และปลดประจำการไปเมื่อปี พ.ศ. 2543 และเทศบาลตำบลปากน้ำประแส ได้ประสานงานนำมาจอดไว้บริเวณปากแม่น้ำประแสฝั่งตรงข้ามวัดสมมติเทพฐาปนาราม (วัดแหลมสน) เพื่อเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของบ้านปากน้ำประแส เมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจยิ่ง

ป่าโกงกาง เป็นสถานที่อนุรักษ์ป่าโกงกางใกล้กับที่ตั้งของเรือรบหลวงประแสบริเวณปากแม่น้ำประแส ปัจจุบันเทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้ก่อสร้างสะพานไม้ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปในป่าโกงกางได้อย่างสะดวกและใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของป่าโกงกางไม้ประจำถิ่นของชาวน้ำเค็ม

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำประแสในความดูแลของกองทัพเรือ ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ที่สำเร็จวิชาการทหารเรือจากต่างประเทศ ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาของราชนาวีไทย มีพระปรีชาสามารถนอกจากด้านการทหารเรือแล้ว ยังทรงพระนิพนธ์เพลงประจำกองทัพเรือไว้หลายเพลง อาทิ เพลงดอกประดู่ เป็นต้น อีกทั้งเป็นผู้สนใจศึกษาในวิชาคาถาอาคมกับหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่าจนมีเกร็ดตำนานเล่าขานกระทั่งบัดนี้ เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2466 ณ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร ชาวเรือชาวน้ำเค็มทั้งภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกให้ความเคารพบูชา เทิดทูนอย่างมาก

บ้านปากน้ำประแส เป็นชุมชนริมแม่น้ำประแสแต่ดั้งเดิม เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จผ่านมาทางภาคตะวันออก ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันถึงปากน้ำประแสนี้ไว้ว่า มองจากปากน้ำประแสเข้าไปมีบ้านเรือนอยู่ราวร้อยหลังคาเรือน ภายหลังเสด็จคืนพระนครได้พระราชทานที่ดินและชื่อแก่วัดสมมติเทศฐาปนาราม (วัดแหลมสน) ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งกองทหารเป็นตลาดริมน้ำของชาวไทย จีน มาแต่เก่าก่อน อาชีพหลัก คือ การทำประมงเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำแมงกะพรุน ทำปลากรอบ กะปิ น้ำปลา สภาพบ้านเรือนเก่า ๆ ยังมีเหลือให้ได้คิดถึงวันคืนในอดีตอย่พอสมควร
|