ประวัติความเป็นมาของจังหวัดระยอง ระยองเริ่มปรากฏชื่อในพงศาวดารเมื่อปีพุทธศักราช 2113 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา การก่อตั้งเมืองมีข้อสันนิษฐานว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณพุทธศักราช 1500 ยุคที่ขอมมีอานุภาพเฟื่องฟูแถบดินแดนสุวรรณภูมิ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากหลักฐานที่พบ คือ ซากศิลาแลง คูค่ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในเขตอำเภอบ้านค่าย อันเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบขอม
ประวัติศาสตร์ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเมืองระยอง ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ ในเดือนยี่ ปีพุทธศักราช 2309 พระยาวชิระปราการ หรือ พระยาตาก พร้อมไพร่พลประมาณ 500 คน ได้ตีฝ่าวงล้อมทัพพม่ามุ่งสู่ตะวันออกมาหยุดพักไพร่พลที่เมืองระยองและได้ปราบปรามคณะกรมการเมืองที่แข็งข้อ จนยึดเมืองระยองได้ ก่อนเดินทัพต่อไปยังเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเป็นที่ตั้งมั่นในการกอบกู้อิสรภาพคืนจากพม่าได้ในปีพุทธศักราช 2311
ชื่อเมือง ระยอง ไม่มีคำแปลในภาษาไทย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำในภาษาของชนเผ่าชอง ซึ่งจัดอยู่ในสายตระกูลมอญ-เขมร มีสมมุติฐานที่เชื่อกันว่าเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเผ่าหนึ่งซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดระยองและบริเวณชายทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย แถบจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง
คำว่า ระยอง ซึ่งออกเสียงว่า รา-ย็อง ในภาษาชองมีความหมายว่า เขตแดน อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า ราย็อง ในภาษาชองมีความหมายว่า ไม้ประดู่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นป่าปรากฏอยู่ทั่วไปจนเป็นสัญลักษณ์ของท้องที่
นอกจากนี้มีตำนานเล่ากันว่าในสมัยโบราณมียายชื่อ ยอง ได้มาทำไร่ในบริเวณนี้จนเป็นที่รู้จักไปไกล ใครๆ พากันเรียกท้องถิ่นนี้ว่า ไร่ยายยอง ต่อมาเสียงเรียกได้เพี้ยนเป็น ระยอง ข้อสังเกตทางวิชาการด้านภาษา คือ การที่ชาวเขมรเรียกหอยว่า คะยอง และจังหวัดระยองอยู่ชายทะเล มีหอยชุกชุมตามชายฝั่งแม่น้ำระยอง บ้านดอน อู่ตะเภา รอตาหวน วังญี่ปุ่น เนินพระ ซึ่งชื่อ ระยอง อาจเพี้ยนมาจาก คะยอง ก็ได้

สภาพทั่วไปของจังหวัดระยอง
ที่ตั้งและอาณาเขตจังหวัดระยองมีพื้นที่ประมาณ 3,552 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,220,000 ไร่ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 12 -13 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 101 - 102 องศาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 179 กิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ |
ติดเขตอำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ่อทอง และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี |
ทิศใต้ |
ติดฝั่งทะเลยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ของอ่าวไทย |
ทิศตะวันออก |
ติดเขตอำเภอนายายอาม และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี |
ทิศตะวันตก |
ติดเขตอำเภอสัตหีบ และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี |
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
จังหวัดระยองมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาในด้านตะวันออก และตอนกลาง มีพื้นที่ลาดเชิงเขาและที่ราบระหว่างหุบเขาจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำ ด้านตะวันออกบรรจบกับที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตก ทิศใต้เป็นอ่าวเล็กๆ และเกาะต่างๆ
จังหวัดระยองมีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ลมทะเลพัดผ่านตลอดปี อากาศอบอุ่นไม่ร้อนจัด บริเวณชายฝั่งทะเลเย็นสบาย ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคมของทุกปี ในปี 2546 มีฝนตกเฉลี่ยตลอดปี 118 วัน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,769.50 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 37 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 22.9 องศาเซลเซียส

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัดต้นมะพร้าว เกาะเสม็ด และพลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ 5 บนเกาะเสม็ด

ต้นไม้ประจำจังหวัด กระทิง (Calophyllum inophyllum)

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา -เขาวง
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

